วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ตำนานผีตาโขน




ตำนานเรื่องเล่า
ที่มาของผีตาโขนพระเอกของงานนี้ นับเป็นอุบายอันแยบคายเฉพาะของบรรพบุรุษเมืองด่านซ้ายให้เด็ก ๆ ในเมืองเล่นสนุกกันเป็นการส่งท้ายงานบุญ
โดยจับเอา เวสสันดรชาดก พระชาติที่ 10 ที่สำคัญที่สุดของพระพุทธเจ้าในตอนที่พระเวสสันดรจะได้กลับคืนพระนคร บรรดาผีป่าทั้งหลายต่างพากันมาส่งเสด็จจนถึงในเมือง เมื่อเข้าเมืองด้วยความเป็นผีป่าไม่เคยเข้าเมือง ก็เลยออกพากันตระเวณเที่ยวเมือง โดยไม่ได้ทำอันตรายใคร แต่ด้วยความที่เป็นผี เมื่อชาวเมืองไปพบเข้าจึงตกใจกลัว สัญชาตญาณผีก็อดที่จะแลบลิ้นปลิ้นตาหลอกชาวบ้านไม่ได้
เมื่อได้เวลาบรรดาผีป่าก็จะพากันออกนอกเมืองกลับคืนสู่ป่า พร้อม ๆ กับนำพาความโชคร้ายและทุกข์โศกโรคภัยทั้งปวงออกจากเมืองไปด้วย
ประเพณีแห่ผีตาโขน เป็นงานประเพณีเล็ก ๆ ที่เล่นกันอยู่ในขอบเขตอำเภอเล็ก ๆ คืออำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย แต่ด้วยรูปแบบและเนื้อหาของงานที่เป็นเรื่องผี ๆ แต่เป็นผีน่ารักน่าสนุกจึงน่าสนใจยิ่งสำหรับมนุษย์
งานเล็กจากอำเภอเล็ก ๆ งานนี้ สุดท้ายจึงก้าวออกไปเป็นงานประเพณีที่เชิดหน้าชูตาของภูมิภาคอีสาน และกลายเป็นงานประเพณีระดับชาติ ทุกปีจะมีชาวต่างประเทศจากทั่วโลกเดินทางไปเที่ยวชมงานผี ๆ งานนี้กันปีละไม่ใช่น้อย งานประเพณีแห่ผีตาโขน เป็นการรวมงานสำคัญของท้องถิ่นสามงานเข้าด้วยกันคือ งานบุญผะเหวด หรือบุญพระเวส อันเป็นงานฉลองการฟังเทศน์มหาชาติ งานแห่ผีตาโขน และงานบุญบั้งไฟ เข้าด้วยกัน
รูปแบบประเพณี
งานประเพณีแห่ผีตาโขน ผูกพันแนบแน่นกับองค์พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองคือ องค์พระธาตุศรีสองรักษ์ ที่เชื่อกันว่าสร้างขึ้นโดยพระมหาจักรพรรดิฝ่ายกรุงศรีอยุธยาและพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชฝ่ายกรุงศรีสัตนาคนหุด เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงมิตรภาพระหว่างกัน
วงจรของประเพณีผีตาโขน เริ่มต้นขึ้นโดยบุคคลศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองสองคนคือ เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม ที่มีฐานะเป็นดังผู้วิเศษหมอผี และครูใหญ่ของเมืองที่มีหน้าที่หลักในการดูแลองค์พระธาตุศรีสองรัก พระธาตุคู่เมืองด่านซ้ายโดยเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม จะเป็นจุดเริ่มต้นวงจรของประเพณีนี้เริ่มต้นจากพิธีบายศรีที่บ้านของเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมในภาคเช้า
และระหว่างที่พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์กำลังดำเนินอยู่นั่นเอง เด็ก ๆ ในทุกบ้านเรืองของเมืองด่านซ้ายก็จะช่วยกันจัดหาเศษผ้ามาเย็บเป็นเสื้อผ้าของผีตาโขน หาอุปกรณ์คือหวดนึ่งข้าวเหนียวและแกนก้านมะพร้าวมาทำหน้ากากผีตาโขนด้วยการวาดลวดลายเพิ่มสีสันเป็นผีตาโขนที่หน้าตาโหดร้ายน่ากลัว หา "หมากกะแหล่ง" หรือกระดึงผูกคอวัวควายมาทำเป็นเครื่องประดับ และที่สำคัญที่สุดที่ผีตาโขนหลายตัวประณีตบรรจงประดิดประดอยเป็นที่สุดก็คือ อาวุธของผีตาโขนเป็นดาบใหญ่ ทำด้วยไม้มีทีเด็ดของดาบอยู่ที่ปลายด้ามดาบที่ทำเป็นรูปปลัดขิกอันโต ทายอดกลม ๆ เป็นสีแดงแจ๋ เอาไว้ไล่จิ้มสาว ๆ ในเมืองโดยเฉพาะ
ในภาคบ่ายจะเป็นพิธีการในฝ่ายราชการ เป็นการแห่ผีตาโขน โดยจัดรูปขบวนแห่ อันประกอบด้วยผีตาโขนใหญ่ ที่ทำเป็นหุ่นใหญ่คล้ายหัวโตของภาคกลาง และผีตาโขนเล็ก เป็นเด็ก ๆ ผู้ชายในเมืองเกือบทั้งหมด ภาคค่ำเป็นการชุมนุมกันฟังเทศน์มหาชาติของผู้เฒ่าผู้แก่และผู้ใหญ่ในเมือง
ส่วนในวันที่สอง ตั้งแต่เช้าเป็นการออกอาละวาดไปทั่วเมืองของชาวผีตาโขน และตกช่วงบ่ายจะเป็นพิธีจุดบั้งไฟขอฝน เป็นอันหมดสิ้นประเพณีแห่ผีตาโขนรวม 2 วันกับหนึ่งคืนด้วยกัน
จุดเด่นของพิธีกรรม
จุดเด่นที่สุดของงานนี้จะมีอยู่ด้วยกันสองช่วงคือ ภาคบ่ายวันแรกอันเป็นขบวนแห่ผีตาโขนอันน่าสนุกสนานและสวยงาม และวันที่สองช่วงสายที่ผีตาโขนจะออกอาละวาดไปทั่วเมือง

ชินจังจอมแก่น




ชินจังจอมแก่น (「クレヨンしんちゃん」, Kureyon Shinchan, クレヨンしんちゃん?) เป็นการ์ตูนญี่ปุ่น เรื่องและภาพโดยโยชิโตะ อุสึอิ ตีพิมพ์ในประเทศญี่ปุ่นโดยสำนักพิมพ์ Futabasha ในประเทศไทยตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เนชั่น เอ็ดดูเทนเมนท์ และได้รับการสร้างเป็นแอนิเมชัน ในปีพ.ศ. 2535
ชินจังจอมแก่น เป็นการ์ตูนแนวตลกขบขันเรื่องหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย ชินจังเป็นการ์ตูนที่มีลายเส้นง่ายๆ เป็นการ์ตูนยอดฮิตทุกประเทศ
เนื้อเรื่องเกี่ยวกับชินจัง (โนะฮาร่า ชิโนสึเกะ; Nohara Shinosuke) เด็กอนุบาลวัย 5 ขวบสุดแก่น มีนิสัยคล้ายคลึงกับพ่อ (ฮิโรชิ) เช่น ชอบผู้หญิงหุ่นดีหน้าตาดี และยังชอบอาบน้ำกับพ่อมาก . แม่ของชินจัง (มิซาเอะ) มีนิสัยขี้เหนียวและขี้อ่อนแอโมโห.ชินจังมีน้องสาวหนึ่งคนชื่อฮิมาวาริ. ครอบครัวของชินจังเลี้ยงหมาหนึ่งตัว ชื่อเจ้าขาว (ชิโร่). เพื่อน ๆ ของชินจังที่พบในเรื่องบ่อย ๆ คือ คาซาม่าคุง, เนเน่จัง, มาซาโอะคุง, และ โบจัง ชินจังมักมีท่าแปลกๆ เช่น ท่ามนุษย์ต่างดาวนู้ดครึ่งก้น ท่าที่เอา
กางเกงในมาครอบหัว โดยทำเหมือนกับว่ามันเป็นหน้ากาก ชินจังชอบดูการ์ตูนหน้ากากแอ็คชั่น เป็นคนที่ชื่นชอบ และชื่นชมในตัวหน้ากากแอ็คชั่นมาก การละเล่นของชินจังที่โรงเรียนคือ เล่นเป็นยุง เล่นเป็นอึ เล่นซ่อนแอบแบบไม่มีคนหา เล่นแกล้งตายบนหิมะ เล่นพ่อ แม่ ลูก

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตั้งอยู่ที่อำเภอภูกระดึงในจังหวัดเลย เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทย ในแต่ละปีมีคนมาเที่ยวเฉลี่ยหลายหมื่นคน. ภูกระดึงได้รับการจัดตั้งเป็นป่าสงวนแห่งชาติในปี พ.ศ. 2486 และเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2502 โดยเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่สองถัดจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ครอบคลุมพื้นที่ 348.12 ตารางกิโลเมตร (217,575 ไร่) ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด โดยมีที่ราบบนยอดภูกระดึง ประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร (37,500 ไร่) มีความสูงอยู่ระหว่าง 400-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล จุดสูงสุดอยู่ที่บริเวณคอกเมย มีความสูง 1,316 เมตร ภูกระดึงมีธรรมชาติที่นักท่องเที่ยวประทับใจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ความสวยงามของการชมทิวทัศน์มาจากที่ราบสูง เช่น การชมพระอาทิตย์อัสดงที่ผาหล่มสัก, การสำรวจพรรณไม้นานาชนิด เช่น ไฟเดือนห้าที่แดงสด และดงป่าสนอันกว้างใหญ่, หรือธรรมชาติชนิดอื่น ๆ เช่น การชมน้ำตกที่น้ำตกขุนพอง เป็นต้น. ในช่วงวันหยุดยาว มักมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปพักผ่อนบนภูกระดึงราวหนึ่งหมื่นคน โดยส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มจะสามารถแบ่งการเที่ยวตามเวลาที่มีได้เช่น หากมี 4 วันที่ภูกระดึง คือเดินทางขึ้น 1 วัน ท่องน้ำตก 1 วัน เลียบผา 1 วัน ลง 1 วัน หากมี 3 วันก็เดินทางขึ้น 1 วัน เที่ยว 1 วัน ลง 1 วัน โดยเลือกท่องเที่ยวได้ หากมีสุขภาพที่ดีพอก็สามารถเดินเที่ยวเส้นน้ำตกพร้อมกับเส้นหน้าผาได้ภายในวันเดียว แต่จะไม่เหมาะกับผู้มีสุขภาพไม่ดีนัก


คุนหมิงเมืองไทย







"เลย"จังหวัดชื่อสั้นๆแต่มากไปด้วยแหล่งท่องเที่ยว นับเป็นอีกหนึ่งเมืองที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปเที่ยวกันไม่น้อยในช่วงหน้าหนาว เพราะเลยมี 3 ภู่ที่น่าสนใจอย่าง ภูกระดึง ภูเรือ ภูหลวง เป็นแหล่งท่องเที่ยวชูโรง นอกจากนี้ที่ริมโขง อ.เชียงคานก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่กำลังมาแรง เช่นเดียวกับที่ "สวนหินผางาม"หรือ"คุนหมิงเมืองเลย"หรือ"คุนหมิงเมืองไทย" (แล้วแต่ใครจะเรียก) ที่เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์ ที่โด่งดังขึ้นมาอย่างรวดเร็วในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

ผาบ่อง(ขวา)หินประหลาดที่มีลักษณะเป็นช่องมองทะลุลอดไปได้
สวนหินผางาม ตั้งอยู่ที่ บ้านผางาม ต.ปวนพุ กิ่ง อ.หนองหิน จ.เลย มีลักษณะเป็นเทือกเขาหินปูน มีความสูงอยู่เหนือระดับน้ำทะเลระหว่าง 500-750 เมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 9,000 ไร่ เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2540 โดยได้เปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมประมาณ 30 % นักวิชาการสันนิษฐานว่า เมื่อราว 225 ล้านปีที่แล้ว สวนหินแห่งนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน เพราะปรากฏซากฟอสซิลของสัตว์ทะเลให้เห็น สำหรับการเที่ยวชมสวนหินผางามนั้นมี 2 วิธี คือ การนั่งรถอีแต๊กเข้าไปเที่ยวชมสำหรับคนมีเวลาน้อยหรือคนที่ไม่ต้องการเมื่อยขาหรือเดินไม่ไหว ซึ่งจะพาไปยังจุดชมวิวแล้วให้เที่ยวบนนั้นสักพักก่อนกลับลงมา อีกวิธีหนึ่งก็คือการเดินทางเข้าไปซอกแซกชมหินรูปร่างแปลกตาล ต้นไม้ใบหญ้า และสิ่งที่น่าสนใจอื่นใจสวนหิน ซึ่งวิธีนี้ควรให้ไกด์ท้องถิ่นนำชมเพื่อจะได้ไม่หลงและจะได้รับคำอธิบายเกี่ยวกับสภาพพื้นที่และหินรูปร่างแปลกประหลากต่างอย่างเต็มที่ หรือใครจะใช้วิธีเดินไปชมสวนหินและให้รถอีแต๊กมารับกลับก็จะได้รับอรรถรสครบทั้ง 2 บรรยากาศ

วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2551

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระเกจิอาจารย์เมืองเลย


หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระเกจิอาจารย์เมืองเลย

นามเดิม บ่อ แก้วสุวรรณ เหตุที่ท่านได้ชื่อว่าชอบก็เนื่องมาจากเมื่อยังเยาว์วัย ได้มีพระธุดงค์ชื่อพระอาจารย์พา มาปักกลดใกล้บ้านท่าน มารดาและญาติผู้ใหญ่ของท่าน รวมทั้งคนในหมู่บ้านได้พากันปรนนิบัติอุปัฏฐาก ถวายภัตตาหารอยู่มิได้ขาด ตัวท่านเองขณะนั้นอายุได้ ๑๔ ปี ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติรับใช้พระ ประเคนสิ่งของ ล้างบาตรให้พระอาจารย์ทุกวัน ประกอบกับอุปนิสัยอันสงบเสงี่ยมฝักใฝ่ทางธรรมของท่าน ทำให้พระอาจารย์พาซึ่งเป็นศิษย์รูปหนึ่งของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ออกปากชวนไปบวชด้วย ซึ่งท่านได้ตอบอย่างไม่ลังเลว่า “ชอบครับ” เมื่อพระอาจารย์พาท่านถามย้ำ หลวงปู่ก็จะตอบว่า “ชอบครับ” และเมื่อท่านได้ไปขอมารดาเพื่อบวชนั้นมารดาของท่านค่อนข้างประหลาดใจ และตกใจระคนไป แต่เมื่อถามย้ำรวมถึงญาติผู้ใหญ่ที่ทราบเรื่อง และได้มาซักไซ้ไล่เรียงท่านก็จะตอบว่า “ชอบครับ” จึงเป็นที่มาของ “เด็กชายชอบ” ด้วยประการฉะนี้


เกิด วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู ณ บ้านโคกมน ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลยโยมบิดา มอ แก้วสุวรรณโยมมารดา พิลา แก้วสุวรรณ


บรรพชา เมื่ออายุ ๑๙ ปี ณ วัดบ้านนาแก ตำบลบ้านนากลาง อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู


อุปสมบท หลังจากใช้ชีวิตเป็นสามเณรอยู่ถึง ๔ ปีกว่า ท่านก็ได้อุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ (อายุ ๒๓ ปี) ณ วัดสร่างโศก (ปัจจุบันคือ วัดศรีธรรมาราม) อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร โดยมีพระครูวิจิตรวิโสธนาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แดง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ฐานสโม” ในพรรษาที่ ๓ ของการอุปสมบท พ.ศ. ๒๔๗๐ ท่านได้เดินทางมาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าหนองบัวบาน ณ ที่นี้เองนอกจากจะเป็นที่ภาวนาดีแล้ว หลวงปู่ยังได้มีโอกาสพบเพื่อนภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งในชีวิตสมณเพศอันยาวนานในภายหลังต่อมาเกือบ ๖๐ พรรษากาลนั้น ได้เป็นกัลยาณมิตรต่อกันตลอดมาภิกษุรูปนั้นแม้จะมีอายุมากกว่าท่านกว่าสิบปี แต่เมื่อมีพรรษาอ่อนกว่าท่านเล็กน้อย ก็มิได้ถือตัวประการใด คงใกล้ชิดสนิทสนม ร่วมปฏิบัติธรรม สนทนาธรรม แลกเปลี่ยนธรรมสากัจฉาต่อกันเป็นอย่างดี ภิกษุท่านนั้น คือท่านที่เรารู้จัก เราเคารพบูชากันในภายหลัง ในนามว่า “หลวงปู่ขาว อนาลโย” แห่งวัดถ้ำกลองเพลนั่นเอง ท่านทั้งสองได้จำพรรษาอยู่ร่วมกันเป็นเวลา ๓ พรรษา ในระหว่างนี้โยมมารดาของท่านได้มาถวานจังหัน รวมถึงฟังเทศน์ที่วัด บางครั้งหลวงปู่ท่านก็ได้ไปเทศน์โปรดที่บ้าน ทำให้โยมมารดาของท่านได้มาถือศีล ๘ ที่วัด และต่อมาก็ปลงใจโกนหัวบวชชีด้วยเห็นผลในการภาวนา และเมื่อท่านได้สงเคราะห์ญาติพอสมควรแล้ว อีกทั้งโยมมารดาของท่านก็สามารถเป็นที่พึ่งของตัวเองได้ ท่านจึงไปสถานที่ใหม่เพราะไม่ต้องการ “ติดถิ่นอยู่ที่” โดยท่านได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าหนองวัวซอ ณ ที่นี้ ท่านได้พบกับหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ซึ่งเป็นชาวเลยด้วยกัน ท่านได้พบกับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ณ เสนาสนะป่าบ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
ในหน้าแล้งก่อนที่จะเข้าพรรษาที่ ๕ ของท่านท่านเล่าว่า พอท่านกราบนมัสการหลวงปู่มั่น ขณะวางอัฐบริขารลงก็โดนท่านดุให้ออกจากสำนัก ท่านเองก็ตกใจ ได้แต่เก็บอัฐบริขารแล้วออกเดินทาง กะว่าจะไปค้างอยู่ที่สำนักหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก ฉันเช้าเสร็จค่อยออกเดินทางต่อไป รุ่งเช้าเมื่อท่านฉันจังหันเสร็จแล้ว ก็พอดีมีพระเณร ๒ รูป เข้ามากราบเรียนท่านว่า ท่านพระอาจารย์มั่นให้มาตามกลับไป เมื่อท่านกลับไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นในครั้งนี้ ท่านทักทายด้วยเมตตายิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมกับบอกให้พระเณรจัดกุฎีที่พักให้ ภายหลังท่านได้เดินธุดงค์ไปตามป่าเขาในเขตภาคเหนือหลายพื้นที่รวมถึงประเทศพม่า ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลวงปู่ขาวชวนท่านกลับอีสาน ท่านจึงได้มาจำพรรษาที่ป่าช้าวังหินโง้น ซึ่งปัจจุบันคือวัดป่าโคกมน ปีพ.ศ. ๒๕๐๑ ผู้ใหญ่ถัน วงษา ได้ถวายที่ดินให้หลวงปู่เพื่อสร้างวัด โดยมีชาวบ้านร่วมสมทบอีกจนเป็นที่ดินกว่าร้อยไร่ ซึ่งปัจจุบันคือ วัดป่าสัมมานุสรณ์


มรณภาพ วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ณ วัดป่าสัมมานุสรณ์ สิริรวมอายุได้ ๙๓ ปี ๑๑ เดือน ๒๗ วัน